เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 8. ปทุมพุทธวงศ์
พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและขุชชุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น
จักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า
‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[15] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :631 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 8. ปทุมพุทธวงศ์
[16] กรุงชื่อว่าจัมปกะ กษัตริย์พระนามว่าอสมะ เป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่าอสมา เป็นพระชนนี
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[17] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 10,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือนันทปราสาท วสุปราสาท และยสุตตรปราสาท
[18] มีนางสนมกำนัล 33,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าอุตตรา
พระราชโอรสพระนามว่ารัมมะ
[19] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[20] พระมหาวีระพระนามว่าปทุมะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ณ พระอุทยานธนัญชะอันประเสริฐ
[21] พระสาลเถระและพระอุปสาลเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าวรณะเป็นพระอุปัฏฐากของพระปทุมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[22] พระราธาเถรีและพระสุราธาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอ้อยช้างใหญ่
[23] สภิยอุบาสกและอสมอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
รุจิอุบาสิกาและนันทรามาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[24] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
พระองค์มีพระรัศมีหาอะไรเสมอมิได้ ซึ่งแผ่ซ่านออกทั่วทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :632 }